USFDA อนุญาตให้ผู้ผลิตอาหารสามารถโฆษณาว่าโยเกิร์ตอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด มักพบในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน บุคคลทั่วไปบริโภคได้ตามข้อแนะนำกินเป็นประจำอย่างน้อย 2 ถ้วยต่อสัปดาห์ แต่ผู้ป่วยเบาหวานแนะนำให้ใช้ยาตามแพทย์สั่งและเลือกบริโภคอาหารที่เหมาะสม
จากกรณีที่ USFDA อนุญาตให้โฆษณาว่าโยเกิร์ตอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้นั้น เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า องค์การอาหารและยาสหรัฐ หรือ USFDA ได้ทบทวนหลักฐานทางวิชาการและงานวิจัยต่าง ๆ พบว่ามีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างจำกัดว่าการรับประทานโยเกิร์ตเป็นประจำอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จึงไม่คัดค้านการทำการตลาด และอนุญาตการแสดงข้อความที่ชัดเจนให้ผู้บริโภคทราบ คือ “การกินโยเกิร์ตเป็นประจำอย่างน้อย 2 ถ้วยต่อสัปดาห์ อาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดย USFDA มีข้อสรุปบนหลักฐานการสนับสนุนที่มีอยู่อย่างจำกัด” หรือ “การกินโยเกิร์ตเป็นประจำอย่างน้อย 2 ถ้วยต่อสัปดาห์ อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 บนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่อย่างจำกัด” ดังนั้นบุคคลทั่วไปสามารถรับประทานโยเกิร์ตได้ตามข้อแนะนำ แต่สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ขอให้ใช้ยาตามแพทย์สั่ง ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ เลือกบริโภคอาหารที่เหมาะสม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หากต้องการจะรับประทานโยเกิร์ต แนะนำให้รับประทานโยเกิร์ตรสธรรมชาติ ไม่เติมผลไม้หรือน้ำตาล
รองเลขาธิการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้มีการกล่าวอ้างทางสุขภาพได้ โดยอนุญาตการกล่าวอ้างหน้าที่สารอาหาร 28 รายการ การกล่าวอ้างหน้าที่อื่น 6 รายการ และการกล่าวอ้างการลดความเสี่ยงของการเกิดโรค 2 รายการ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข(ฉบับที่ 447) พ.ศ. 2566 เรื่อง การกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหารบนฉลาก เช่น วิตามินเค มีส่วนช่วยในการแข็งตัวตามปกติของเลือด เบต้า-กลูแคน จากข้าวโอ๊ต มีส่วนช่วยในการลดการดูดซึมคอเลสเตอรอล อาหารที่มีโซเดียมต่ำอาจช่วยลดความเสี่ยงของความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลได้จาก QR code และกรณีผู้ประกอบการต้องการกล่าวอ้างทางสุขภาพนอกเหนือจากที่มีประกาศกำหนดไว้ สามารถยื่นประเมินประสิทธิผลและความเหมาะสมของการกล่าวอ้างทางโภชนาการและสุขภาพกับศูนย์ประเมินด้านโภชนาการและการกล่าวอ้างทางสุขภาพของผลิตภัณฑ์อาหารแห่งประเทศไทย มูลนิธิพัฒนาโภชนาการได้ เพื่อเป็นข้อมูลประสิทธิผลสำหรับ อย. พิจารณาอนุญาตต่อไป
***************************************************
วันที่เผยแพร่ข่าว 8 มีนาคม 2567 ข่าวแจก 89 / ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
ประกาศ สธ ฉ.447
การกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหารบนฉลาก