อย. เตือน! อันตราย "เห็ดขี้ควาย" เป็นยาเสพติด หลอนประสาท มีโทษหากผลิต ขาย ครอบครอง หรือเสพ
30 พฤษภาคม 2567

อย. ชี้ กระแสกิน “เห็ดขี้ควาย” เป็นอันตราย เนื่องจากเห็ดขี้ควายเป็นยาเสพติด ทำให้เคลิบเคลิ้ม บ้าคลั่ง ประสาทหลอน ผู้เสพมีโทษถึงจำคุก ส่วนผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือครอบครอง มีโทษทั้งจำและปรับ

นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากข่าวการจับกุมผู้ต้องหาลักลอบเพาะเห็ดขี้ควายเพื่อจำหน่าย พร้อมเปิดคอร์สสอนวิธีการกิน อ้างตนเองสำเร็จนิพพานเป็นเทพเจ้า มีคลื่นความถี่สามารถรับรู้ทุกสิ่งบนโลกได้นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความห่วงใยเกรงจะมีผู้เข้าใจผิดในเรื่องดังกล่าวมากขึ้นจนส่งผลให้เกิดอันตรายได้ ซึ่งเห็ดขี้ควายมีสารออกฤทธิ์ไซโลไซบีน (Psilocybine) เมื่อบริโภคเข้าไปจะเกิดอาการเมา เคลิบเคลิ้ม บ้าคลั่ง คลื่นไส้ อาเจียน ประสาทหลอน เห็นภาพแสงสีลวงตา และต้องเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันสารไซโลไซบีนมีการศึกษาทดลองทางคลินิกเพื่อใช้ในการรักษาภาวะซึมเศร้า แต่ยังมีข้อมูลจำกัด และยังไม่ได้รับการอนุญาตจาก อย. รวมถึงยังไม่มีประเทศใดที่รับรองการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่มีสารไซโลไซบีนเป็นส่วนประกอบ

สำหรับประเทศไทย เห็ดขี้ควาย ถูกควบคุมเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ผู้เสพมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อการค้าหรือทำให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 15 ปี และปรับตั้งแต่ 1 แสน ถึง 1.5 ล้านบาท ส่วนสารไซโลไซบีนจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และอาจก่อให้เกิดการนำไปใช้หรือมีแนวโน้มในการนำไปใช้ในทางที่ผิดสูง อย. จึงขอเน้นย้ำผู้บริโภคไม่ให้หลงเชื่อ มิเช่นนั้น จะมีโทษตามกฎหมายและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ผู้บริโภคควรระมัดระวัง อย่าหลงเชื่อคำอวดอ้างเกินจริงตามกระแสข่าว และหากมีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line : @FDAThai, Facebook : FDA Thai หรือ E-mail : 1556@fda.moph.go.th ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11000 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

******************************************************

วันที่เผยแพร่ข่าว 30 พฤษภาคม 2567  ข่าวแจก 174 / ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

 

คลังรูปภาพ