วันที่ 23 มีนาคม 2566 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก. ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., ว่าที่ พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.4 บก.ปคบ., นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภก. วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติกรณีทลายโกดังเก็บผลิตภัณฑ์อาหาร, ยาปลอม และเครื่องสำอางปลอม โดยลวงขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ตรวจยึดของกลาง 19 รายการ รวม 6,320 กล่อง มูลค่าความเสียหายกว่า 10,500,000 บาท
พฤติการณ์กล่าวคือ สืบเนื่องจากปัจจุบันค่านิยมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพเป็นที่ได้รับความสนใจของผู้บริโภคยุคใหม่ จึงทำให้ปัญหาการแพร่ระบาดของผลิตภัณฑ์สุขภาพปลอมในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค จึงมีมาตรการในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับได้รับการร้องเรียน และข้อมูลจาก บริษัท อินเตอร์ ฟาร์มาร์ จำกัด (มหาชน) ว่าพบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยี่ห้อ TS6 Probiotic และ Probac7 ปลอม แพร่ระบาดในแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำการสืบสวนจนทราบว่า มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยี่ห้อ TS6 Probiotic และ Probac7 ปลอมบนแพลตฟอร์มช้อปปี้มากกว่า 15 ร้าน และพบว่า กลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิดมีการลักลอบนำสินค้าปลอมเข้ามาจากประเทศจีน จากนั้นนำมาเก็บไว้ที่โกดังเก็บสินค้าในพื้นที่เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร อีกทั้งพบว่าร้านค้าดังกล่าวมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และเครื่องสำอางชื่อดังที่ต้องสงสัยว่าปลอมหลายอีกหลายยี่ห้อ ซึ่งผลิตภัณฑ์แต่ละรายการมีราคาค่อนข้างสูง ผู้บริโภคที่ซื้อย่อมคาดหวังในคุณภาพ การขายผลิตภัณฑ์ปลอมในราคาสูงจึงเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค เมื่อรับประทานแล้วอาจทำให้ไม่ได้ผลตามต้องการ และอาจทำให้ได้รับอันตรายต่อสุขภาพต่อผู้บริโภคโดยตรง
ต่อมาในวันที่ 21 มีนาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้ร่วมกันนำหมายค้นของศาลอาญากรุงเทพใต้ เข้าทำการตรวจค้นอาคารแห่งหนึ่ง ย่านถนนบรรทัดทอง แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ผลการตรวจค้น พบ นายเชง (สงวนนามสกุล) สัญชาติ จีน แสดงตัวเป็นเจ้าของสถานที่และกิจการดังกล่าว ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ตามที่ปรากฏในเรื่องร้องเรียน และผลิตภัณฑ์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหมด 19 รายการ
รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 10,500,000 บาท โดยของกลางส่วนใหญ่ที่ยึดในครั้งนี้ และมีบริษัทผู้นำเข้ายืนยันว่าไม่ใช่สินค้าของบริษัทตน ได้แก่ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์มาร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทแอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทเฮอร์บาไลฟ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด โดยในการตรวจค้นครั้งนี้พบผลิตภัณฑ์
“Pre-conception&Pregnancy” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เฉพาะกลุ่มสตรีมีครรภ์ โดยเป็นวิตามินและแร่ธาตุที่ใช้ในการบำรุงระหว่างตั้งครรภ์ จนถึงคลอดบุตร หากทำปลอมและมีสารเคมีอันตรายผสมเจือปน อาจเป็นอันตรายโดยตรงต่อผู้บริโภค เบื้องต้นพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ได้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาในความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ฐาน “จำหน่ายอาหารปลอม” โดยผู้ต้องหาให้การ ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่รับว่า สินค้าของกลางในคดีทั้งหมดถูกส่งมาจากประเทศจีน แล้วนำมาเก็บไว้ ในอาคารที่เกิดเหตุจริง เพื่อนำส่งลูกค้าคนไทยที่ซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มในประเทศไทยอีกทอดหนึ่ง ในส่วนผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยว่าปลอมอื่นๆ อยู่ระหว่างติดต่อให้ บริษัท เจ้าของผลิตภัณฑ์ตรวจสอบและยืนยันเพิ่มเติม ในส่วนตัวอย่างผลิตภัณฑ์พนักงานสอบสวนจะส่งผลิตภัณฑ์ตรวจพิสูจน์กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หากพบสารต้องห้ามจะเป็นความผิดเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.อาหาร ฐาน “จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์” ระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นความผิดตาม
1. พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 ฐาน “จำหน่ายอาหารปลอม” ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาท ถึงหนึ่งแสนบาท
2. กรณีพบว่าผลิตภัณฑ์ยาเป็นผลิตภัณฑ์ปลอม จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510
ฐาน “ขายยาปลอม” ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่สองพันถึงหนึ่งหมื่นบาท
3. กรณีพบว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปลอม จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558
ฐาน “ขายเครื่องสำอางปลอม” ระวางโทษจำคุกหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ภก. วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ อย. ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่สืบสวน ขยายผล จนสามารถตรวจยึด อาหาร ยา เครื่องสำอาง ผิดกฎหมายได้จำนวนมาก
ในส่วนของพี่น้องประชาชนขอย้ำเตือนว่า อาหาร ยา เครื่องสำอางจะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนจำหน่าย โดยสามารถดูได้ที่ฉลากผลิตภัณฑ์ หรือที่บรรจุภัณฑ์ ควรซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน กรณีซื้อออนไลน์ให้ซื้อจาก ร้านค้าออนไลน์ที่มีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เรียบร้อยแล้ว สำหรับยาไม่สามารถซื้อทางออนไลน์ได้ ต้องซื้อจากร้านยา หรือได้รับการตรวจวินิจฉัยและจ่ายจากแพทย์ในสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชนเท่านั้น ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และ Line@FDAThai หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถ แจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ อย่าหลงซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านสื่ออนไลน์ เพียงเพราะเห็นแก่ราคาสินค้าที่ถูกกว่าท้องตลาด ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น อาหารเสริม และยา ที่ถูกเกินกว่าปกติ หรือโฆษณาโปรโมชั่นการตลาดที่ราคาลดลงจนไม่น่าเป็นไปได้ เช่น ลด 50 -70 % , ซื้อ 1 แถม 2, สินค้า Pre Order, กล่าวอ้างซื้อตัดล็อต หรือเป็นของแท้นำเข้าจากต่างประเทศ ไม่เสียภาษีจึงราคาถูก เป็นต้น ให้ระลึกไว้เสมอว่าท่านกำลังเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อการโฆษณาและได้ของปลอม ของไม่มีคุณภาพ ใช้แล้วอาจเกิดอาการแพ้ และขอเน้นย้ำกับผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางแพลตฟอร์ม อี-มาร์เก็ตเพลส และทางสื่อออนไลน์ทั้งหลายว่าอย่านำสินค้าที่ผิดกฎหมายมาจำหน่ายหรือหลอกลวงผู้บริโภคโดยเด็ดขาด หากพบจะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด ทั้งนี้ผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดกฎหมายในลักษณะอื่นใด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ปคบ.1135 หรือ เพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา
************************************
วันที่เผยแพร่ข่าว 24 มีนาคม 2566 แถลงข่าว 12/ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566