ตำรวจสอบสวนกลาง(CIB) ร่วม อย. บุกโรงงาน ทลายเครือข่ายผลิต และจำหน่ายอาหารเสริมลดความอ้วน NQ S Cross ผสมไซบูทรามีน
25 เมษายน 2566

วันที่ 25 เมษายน 2566 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ  ภูริเดช ผบช.ก.เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ  นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา  กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., ว่าที่ พ.ต.อ.สุพจน์  พุ่มแหยม ผกก.4       บก.ปคบ., นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภญ.อรัญญา เทพพิทักษ์  ผอ.ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ร่วมกันแถลงผล


การปฏิบัติกรณีทลายเครือข่าย
ผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่าย อาหารเสริมลดความอ้วนยี่ห้อ เอ็นคิว เอส ครอส (NQ S Cross) ผสมไซบูทรามีน ตรวจค้น 4 จุด จับกุมผู้ต้องหา  3 ราย ตรวจยึดของกลาง 17 รายการ รวมกว่า 7,000 กล่อง มูลค่ากว่า 2,000,000 บาท

พฤติการณ์กล่าวคือ สืบเนื่องจากปัจจุบัน กระแสผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับลดน้ำหนักเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภค และเข้าถึงได้ง่ายอีกทั้งมีความหลากหลาย และอาจเป็นช่องว่างให้ผู้ผลิตลักลอบผสมวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 (ไซบูทรามีน) ไปในผลิตภัณฑ์ เมื่อรับประทานแล้ว อาจทำให้ปวดหัว ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว หายใจลำบาก เสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด และเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง ในกรณีผู้มีโรคประจำตัวอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค จึงมีการเฝ้าระวังกลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเรื่อยมา ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. พบว่ามีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วน ยี่ห้อ เอ็นคิว เอส ครอส (NQ S Cross) ผ่านแฟลตฟอร์ม Shopee, Lazada, TikTok และ Facebook เป็นจำนวนมาก โดยมีการโฆษณาชวนเชื่อว่า เมื่อรับประทานแล้ว ทำให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้น ๆ และมีเครือข่ายตัวแทนผู้จำหน่ายกระจายอยู่ทั่วประเทศ เมื่อนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 (ไซบูทรามีน) ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ จึงได้สืบสวนจนทราบแหล่งผลิต แหล่งจัดจำหน่าย และตัวแทนรายใหญ่ พร้อมรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอนุมัติหมายจับกลุ่มเครือข่ายผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในข้อหา จำหน่ายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 (ไซบูทรามีน) โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า”  

ต่อมาในวันที่ 20 เมษายน  2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้ร่วมกันนำหมายค้น เข้าทำการตรวจค้น สถานที่ผลิต ผู้จัดจำหน่าย(เจ้าของผลิตภัณฑ์) และเครือข่ายตัวแทนผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ ในพื้นที่ จ.ตาก, จ.สุโขทัย และพิษณุโลก จำนวน 4 จุด มีรายละเอียดดังนี้

1. บริษัท อินทารา เฮิร์บ จำกัด เลขที่ 652 หมู่ 2 ต.แม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก สถานที่ผลิต ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เอ็นคิว เอส ครอส (NQ S Cross) ซึ่งตรวจสอบด้วยชุดทดสอบเบื้องต้นพบไซบูทรามีนผสมอยู่ ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เอ็นคิว เอส ครอส (NQ S Cross) ตลอดจนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้ออื่น ๆ
รวม 7 รายการ จำนวน 6,850 กล่อง พร้อมตรวจยึดอุปกรณ์และเอกสารที่เกี่ยวข้องในการสั่งซื้อและจัดจำหน่ายหลายรายการ

2. บริษัท นิวควีน เนเจอร์ ฟูด จำกัด เลขที่ 958 หมู่ 3 ต.แม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก ผู้จัดจำหน่ายขณะตรวจค้นพบ น.ส.ชนนิกา (สงวนนามสกุล) เจ้าของแบรนด์ เป็นผู้นำตรวจค้นและรับว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เอ็นคิว เอส ครอส (NQ S Cross)  ตนเป็นเจ้าของแบรนด์ และได้สั่งผลิตจาก บริษัท อินทารา เฮิร์บ จำกัด จริง  ตรวจค้นพบเอกสารที่เกี่ยวข้องในการสั่งซื้อและจัดจำหน่ายหลายรายการ

3. ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เอ็นคิว เอส ครอส (NQ S Cross) ในพื้นที่ หมู่ที่ 2 .นาทุ่ง อ.สวรรคโลก .สุโขทัย ตรวจยึดผลิตภัณฑ์ เสริมอาหาร เอ็นคิว เอส ครอส (NQ S Cross) และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้ออื่น ๆ รวม 3 รายการ โดยพบเอกสารที่เกี่ยวข้องในการสั่งซื้อและจัดจำหน่ายหลายรายการ พร้อมจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ 2 ราย ได้แก่ 1. นางนุชจรีย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี ซึ่งเป็นแม่ทีมรายใหญ่และเป็นอินฟลูเอนเซอร์ใน TikTok ที่มียอดผู้ติดตามหลักแสนคน และ 2. นายภิรมย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 40 ปี แฟนหนุ่มซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย และเปิดบัญชีสำหรับซื้อขายสินค้า

4. ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เอ็นคิว เอส ครอส (NQ S Cross) รายใหญ่ในพื้นที่ หมู่ที่ 5 .บ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก พบ น.ส.สุทธาทิพย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 35 ปี ซึ่งเป็นตัวแทนรายใหญ่และเป็นอินฟลูเอนเซอร์ใน TikTok เป็นผู้นำตรวจค้น พร้อมตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เอ็นคิว เอส ครอส (NQ S Cross) และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้ออื่น ๆ รวม 7 รายการ ค้นพบเอกสารที่เกี่ยวข้องในการสั่งซื้อและจัดจำหน่ายหลายรายการ

เบื้องต้นพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ได้แจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาทั้งหมด 3 ราย ได้แก่


1. นางนุชจรีย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี และ 2. นายภิรมย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 40 ปี และ 3. น.ส.สุทธาทิพย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 35 ปี ในความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ฐาน จำหน่ายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 (ไซบูทรามีน) โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า” โดยผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย รับว่าขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เอ็นคิว เอส ครอส (NQ S Cross) จริง โดยรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เอ็นคิว เอส ครอส (NQ S Cross) มาจำหน่ายโดยสั่งซื้อโดยตรงจากเจ้าของแบรนด์ ชื่อแจง หรือ จุ๊บแจง อยู่ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก จากนั้นมากระจายจำหน่ายให้กับลูกค้าที่สั่งซื้อผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ

โดยจากการสืบสวนขยายผลทราบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว เริ่มจากการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับลดน้ำหนัก ตระกูลนิวควีน โดยในช่วงแรกสินค้าขายไม่ดี จึงเริ่มมีการผสมสารไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่พฤศจิกายน 2565 จนถึงปัจจุบัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการสืบสวนขยายผลถึงแหล่งที่มาของสารไซบูทรามีนต่อไป

สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้ออื่น ๆ ที่เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจยึด จะได้ส่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปตรวจ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หากตรวจพบสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม

การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นความผิดตาม

1. ประมวลกฎหมายยาเสพติด ฐาน ผลิตซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 โดยกระทำเพื่อการค้าฐาน จำหน่ายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 โดยกระทำเพื่อการค้าโทษตามมาตรา 149 วรรคสอง (1) ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท  

2. กรณีพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีส่วนผสมของยาแผนปัจจุบัน หรือมีการผสมสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์ จะเป็นความผิด ฐาน “ผลิต/ จำหน่ายอาหารที่ไม่บริสุทธิ์” ตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) โทษตามมาตรา 58 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 ภญ.อรัญญา เทพพิทักษ์  ผอ.ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ  กล่าวว่าปฏิบัติการในครั้งนี้ อย. ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)  ที่สืบสวนขยายผลจนสามารถจับกุมผู้ค้าตรวจยึดผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายได้จำนวนมาก 

 

โดยการปฏิบัติการในครั้งนี้ อย. ได้เฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักเป็นกรณีพิเศษ โดยร่วมกับตำรวจ บก. ปคบ. สืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดจนมีการจับกุมดำเนินคดีผู้ผลิต ผู้จำหน่ายที่กระทำผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง และแจ้งข่าวเตือนประชาชนให้ทราบข้อมูลอยู่เสมอ เพื่อมิให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่น ทานแล้วลดน้ำหนักเห็นผลไว เห็นผลจริง ปลอดภัย การันตี ไม่มีผลข้างเคียง เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างใช้ลดน้ำหนักเหล่านี้ มักพบว่ามีส่วนผสมของไซบูทรามีน ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือกลุ่มยาแผนปัจจุบันที่ช่วยลดความอยากอาหาร  ซึ่งผลที่ได้อาจไม่คุ้มเสีย เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้วยังเสียสุขภาพจากผลข้างเคียงของยาและอาจทำให้เสียชีวิตได้ จึงขอย้ำว่า อย่าซื้อยาทางสื่อออนไลน์มารับประทานเองโดยเด็ดขาด

ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และ Line@FDAThai หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ การเลือกผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ควบคุมน้ำหนักควรเลือกซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อ  โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น อาหารเสริม อาจมีผู้ประกอบการที่ลักลอบใส่สารไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แล้วโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภคว่าสามารถช่วยลดน้ำหนัก ทำให้ผู้บริโภคไปหลงเชื่อโฆษณาหลอกลวงซื้อมารับประทาน แล้วได้รับผลข้างเคียงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะสุขภาพที่ดีต้องประกอบด้วยการรับประทานอาหารและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และขอเน้นย้ำว่าไซบูทรามีน เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ผู้ที่ลักลอบนำมาผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง หากพบจะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด ทั้งนี้ผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดกฎหมายในลักษณะอื่นใด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ปคบ.1135 หรือ เพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา

“ผู้ต้องหาหรือจําเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคําพิพากษาถึงที่สุด”

************************************

วันที่เผยแพร่ข่าว 25 เมษายน 2566 แถลงข่าว 13 / ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566