วันที่ 6 ธันวาคม 2565 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ. ธรากร เลิศพรเจริญ, พ.ต.อ.สำเริง อำพรรทอง, พ.ต.อ.ณัฐวัฒน์ เกศะรักษ์, พ.ต.อ.สมเกียรติ ตันติกนกพร รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ., กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และนพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ภญ.อรัญญา เทพพิทักษ์ ผอ.ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) ร่วมกันแถลงผลงานจับกุมกวาดล้างหมอเถื่อนและคลินิกเสริมความงามเถื่อน เบื้องต้นมีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหา 8 ราย พร้อมตรวจยึดของกลางที่เกี่ยวข้อง 836 รายการ
สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก อย. และ สบส. ให้ทำการสืบสวนกรณีมีบุคคลแอบอ้างตัวเป็นแพทย์หลอกเสริมความงามให้ประชาชนในหลายพื้นที่ ระหว่างวันที่ 23 - 29 พฤศจิกายน 2565 จึงทำการสืบสวนและร่วมกับ อย., สบส. และ สสจ. ประจำแต่ละจังหวัด ลงพื้นที่ตรวจค้นพื้นที่ กรุงเทพมหานคร,ชลบุรี, จ.สมุทรสงคราม และ จ.ปทุมธานี รวมทั้งหมด 8 จุด ผู้ต้องหา 8 ราย ตรวจยึดของกลาง 836 รายการ รายละเอียดดังนี้
1. บ้านเลขที่ 134/62 ต.แม่กลอง อ.เมืองสมุทรสงคราม จ.สมุทรสงคราม จับกุม น.ส.ธนัศร(สงวนนามสกุล) อายุ 24 ปี ในความผิดฐาน “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา โดยจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และอาศัยประสบการณ์ที่เคยเป็นผู้ช่วยพยาบาลมาก่อน ซึ่งทำมาแล้วประมาณ 1 ปี
2. มินท์มันตรา คลินิกเวชกรรม” เลขที่ 2/2 (ชั้น 1) ซอยรามอินทรา 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร จับกุม น.ส.ศรีษุณี (สงวนนามสกุล) อายุ 36 ปี (ทำการรักษานอกเวลาที่ขออนุญาต) ในความผิดฐาน “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา” โดยจบการศึกษาระดับชั้น ปวส. และทำมาแล้วประมาณ 6 ปี
3. อาร์ซีเอ คลินิกเวชกรรม เลขที่ 25/20 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กทม จับกุม น.ส.ณปาภัทร(สงวนนามสกุล) อายุ 39 ปี ในความผิดฐาน “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา และขายเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รัอนุญาต” จบการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะพยาบาลศาสตร์ โดยทำมาแล้วประมาณ 5 ปี
4. โรเซ่ คลินิกเวชกรรม เลขที่ 16 ซ.สันติสุข แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร จับกุม นายจิรัฏฐ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 23 ปี ในความผิดฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา” จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยทำมาแล้วประมาณ 1 ปี
5. ห้องเลขที่ 32/18 อาคาร C ไอวี่รัชดาคอนโด ซ.รัชดา 20 แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร นางสาวศศิพัชร์ (สงวนนามสกุล) ในความผิดฐาน “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” จบการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะพยาบาลศาสตร์ โดยทำมาแล้วประมาณ 1 ปี
6. ใจอารีย์ คลินิกเวชกรรม เลขที่ 49/37 หมู่ที่ 14 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
นายกรกรต (สงวนนามสกุล) อายุ 54 ปี ในความผิดฐาน “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” จบการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยเคยมีประสบการณ์การทำงานในคลินิกมาก่อน จากนั้นมาเปิดคลินิกและตรวจรักษาเอง
7. ร้านพาซาลอน เลขที่ 148/51หมู่ที่ 5 ซอยนาเกลือ 19 ถ.พัทยา-นาเกลือ ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี น.ส.บุญพา (สงวนนามสกุล) อายุ 48 ปี ในความผิดฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา” จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยศึกษาวิธีการฉีดเสริมความงามด้วยตนเองจากช่องทาง YouTube จากนั้นสั่งยาต่าง ๆ จากช่องทางออนไลน์และทดลองฉีดหน้าตนเองก่อนในช่วงแรก
8. ร้านต่อขนตา By มะปราง ห้องเลขที่ 104 หมู่ที่ 12 ต.ดอนหัวฬอ อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี
น.ส.อังคนาง (สงวนนามสกุล) ในความผิดฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา” จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยมีประสบการณ์เคยเป็นผู้ช่วยแพทย์มาก่อน และทำมาแล้วประมาณ 3 เดือน
รวมตรวจค้น 8 จุด โดยเป็นคลินิกที่ไม่ได้รับอนุญาต 4 แห่ง ตรวจยึดของกลาง 836 รายการ
เป็นยาและเวชภัณฑ์ 109 รายการ, เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ในการตรวจคนตรวจรักษา 57 รายการ,เวชระเบียน 670 รายการ ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต 8 ราย โดยผู้ต้องหาทั้ง 8 ราย ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาและไม่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมแต่อย่างใด โดยจบการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะพยาบาลศาสตร์ 2 ราย, ปริญญาตรี 1 ราย, มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 3 ราย, ประกาศณียบัตรวิชาชีพชั้นสูง 1 ราย และประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 1 ราย
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม
1. พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ฐาน “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และ “ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ฐาน “ขายเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การฉีดสารเสริมความงาม ไม่ว่าจะเป็นฟิลเลอร์ หรือโบท๊อกซ์ นั้น ถือว่าเป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรม จะต้องให้บริการโดยแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพ และกระทำในสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ไม่มีการเดินสายให้บริการนอกสถานพยาบาลแต่อย่างใด หากพบเห็นการให้บริการฉีดสารเสริมความงามนอกสถานที่ขอให้ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นหมอเถื่อน หมอกระเป๋า ซึ่งการฉีดสารเสริมความงามด้วยบุคคลที่มิใช่แพทย์นั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อร่างกาย ซึ่งอาจมีความรุนแรงถึงขั้นพิการ หรือเสียชีวิต จากการที่สารเสริมความงามรั่วไหลเข้าไปอุดตันในเส้นเลือด หรือเกิดการติดเชื้อ กรม สบส. จึงขอเน้นย้ำให้เลือกรับบริการเสริมความงามกับสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น โดยก่อนรับบริการก็ควรตรวจสอบหลักฐาน 5 ประการ ซึ่งสถานพยาบาลจะต้องแสดง ได้แก่ 1. ป้ายชื่อคลินิกต้องแสดงเลขที่ใบอนุญาต 11 หลัก 2. มีการแสดงใบอนุญาตเปิดกิจการคลินิก เลขใบอนุญาตต้องตรงกับเลขที่ที่ติดที่ป้ายชื่อคลินิก 3. มีการแสดงใบอนุญาตให้ดำเนินการ
สถานพยาบาล 4. มีการแสดงหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมคลินิกที่เป็นปีปัจจุบัน และ 5. มีการแสดงหลักฐานของแพทย์ที่ให้บริการในคลินิก โดยมี ชื่อ-นามสกุล และภาพถ่ายติดที่หน้าห้องตรวจ โดยสามารถตรวจสอบชื่อคลินิกได้ที่เว็บไซต์กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (www.mrd-hss.moph.go.th) และตรวจสอบชื่อแพทย์ได้ที่เว็บไซต์แพทยสภา (www.tmc.or.th) หากไม่พบ หรือสถานพยาบาลแสดงหลักฐานไม่ครบถ้วน ไม่ควรเข้ารับบริการ และขอให้แจ้งเบาะแสมาที่สายด่วนกรม สบส. 1426 หรือทางหมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ภญ.อรัญญา เทพพิทักษ์ ผอ.ศรป. และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยและประสิทธิผลของยาและการใช้ยา กล่าวว่า ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ต้องการดูแลภาพลักษณ์ตนเองให้ดูดีอยู่เสมอ ดังนั้นการฉีดฟิลเลอร์โบท็อกซ์ หรือร้อยไหม จึงได้รับความนิยม เพื่อช่วยในการเติมเต็มรูปหน้า เช่น เสริมจมูก เสริมคาง เสริมแก้ม หรือเพื่อเติมเต็มริ้วรอยบนใบหน้า เติมเต็มร่องลึกต่าง ๆ เช่น ร่องใต้ตา ร่องแก้ม รอยย่นบนหน้าผาก รอยตีนกาหรือแม้แต่การบำรุงผิวให้กระชับ เมื่อความนิยมมีมากขึ้น ผนวกกับความต้องการเสริมความงามในราคาถูก จึงมีหมอเถื่อนมากมายที่ใช้สารฟิลเลอร์หรือโบท็อกซ์ปลอม หรือไม่ได้รับอนุญาตฉีดเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งไม่มีทั้งในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย จึงขอฝากผู้ที่ต้องการเสริมความงาม ควรเลือกรับบริการจากสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ให้บริการ ก่อนการฉีดควรสอบถามและขอดูตัวสารที่ฉีดว่าได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายจาก อย. หรือไม่ เพราะผลที่เกิดขึ้นจากการใช้ฟิลเลอร์หรือโบท็อกซ์ปลอมฉีดเข้าร่างกายนั้น อาจเกิดอันตรายจนถึงแก่เสียชีวิตตามที่เคยปรากฎเป็นข่าวมาแล้ว ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือตู้ปณ.1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ควรศึกษาข้อมูลคลินิก แพทย์และขั้นตอนการรักษาให้ดีก่อนที่จะเข้ารับบริการเสริมความงาม เนื่องจากการเสริมความงามเป็นขั้นตอนและวิธีการที่จะต้องใช้ผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและเกิดผลกระทบกับร่างกายโดยตรง และแจ้งเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่สวมรอยเป็นหมอ, หมอเถื่อน หรือคลินิกเถื่อน ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด พี่น้องประชาชนสามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ สายด่วน บก.ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค
************************************
วันที่เผยแพร่ข่าว 6 ธันวาคม 2565 แถลงข่าว 4 /ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
“การแถลงข่าวในครั้งนี้เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน”