วันที่ 22 เมษายน 2567 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย, พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมปฏิบัติการจับกุมกวาดล้างโรงงานผลิตยารักษาเห็บหมัดเถื่อนในพื้นที่ เขตลาดกระบัง ตรวจยึดของกลางกว่า 40,450 ชิ้น มูลค่าความเสียหายกว่า 500,000 บาท
สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้ทำการตรวจสอบสถานที่ผลิตยาสำหรับหยดกำจัดเห็บหมัดสำหรับสุนัขและแมวโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งหากนำมาใช้ อาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการรักษา ให้มีอายุขัยเฉลี่ยน้อยลงกว่าวัยอันควร เกิดภาวะช็อก หมดสติ หรืออาจเสียชีวิต อีกทั้งแม้ยาดังกล่าวไม่มีผลโดยตรงกับมนุษย์แต่อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง หรือแพ้ได้
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนหาข่าวจนทราบถึงกลุ่มเครือข่ายผู้ผลิต สถานที่จัดเก็บ และพบว่ามีการลักลอบผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสัตว์ปลอมโดยไม่ได้รับอนุญาต ในพื้นที่แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร
ต่อมาเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นำหมายค้นเข้าตรวจค้นสถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 จุด ได้แก่
สถานที่จัดเก็บสินค้าบ้านพักในพื้นที่ แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัข ยี่ห้อฟีติก (ปลอม) จำนวน 300 ขวด
สถานที่ผลิต และจำหน่าย บ้านพักในพื้นที่ แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัขและแมวยี่ห้อต่าง ๆ, วัตถุดิบที่ใช้ผลิต รวมทั้งฉลาก บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ดังนี้
1. ผลิตภัณฑ์ สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัข ยี่ห้อฟีติก (ปลอม) จำนวน 805 ขวด
2. ผลิตภัณฑ์ สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดแมว ยี่ห้อ Front 3- 1 ฉลากสีฟ้า จำนวน 295 ขวด
ผ 3. ผลิตภัณฑ์ สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัข ยี่ห้อ Front 3- 1 ฉลากสีเขียวอ่อน จำนวน 34 ขวด
4 4. ผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัข ยี่ห้อ Front 3- 1 ฉลากสีส้ม จำนวน 48 ขวด
5. ผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัข ยี่ห้อ Detick จำนวน 35 ขวด
ผ 6. ผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัข ยี่ห้อ Alprocide จำนวน 48 ขวด
ย 7. ยารับประทานกำจัดเห็บหมัดสำหรับสุนัข ยี่ห้อ En-Dex 8000 ฉลากระบุ ตัวยาสำคัญ Ivermectin (ยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับ) จำนวน 360 กล่อง
8 8. ผลิตภัณฑ์กำจัดปลวก ยี่ห้อ เอธีนา 25 (ฟิโพรนิล 25%) จำนวน 14 ขวด
9 9. ผลิตภัณฑ์กำจัดปลวก ยี่ห้อ เอธีนา 25 (ฟิโพรนิล 25%) ผสมแอลกอฮอล์ จำนวน 2 ขวด
10. สติ๊กเกอร์ยี่ห้อฟีติก, ซีอุส, Front 3 in 1 และ Detick จำนวน 11,900 ชิ้น
11. กล่องบรรจุภัณฑ์ จำนวน 3,085 ชิ้น
12. ฝาครอบชุดยาเห็บหมัด จำนวน 14,650 ชิ้น
13. แอลกอฮอล์ จำนวน 1 แกลอน
14. ไซริ้ง จำนวน 90 ชิ้น
15. จุกใน จำนวน 2,500 ชิ้น
16. ฝาอลูมิเนียม จำนวน 10,000 ชิ้น
17. จุกยาสีเทา จำนวน 10,000 ชิ้น
18. ขวดแก้วใส 1,000 ชิ้น
รวมตรวจค้น 2 จุด ตรวจยึดวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ปลอม จำนวน 1,105 ขวด, วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ซึ่งไม่ได้ขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายสาธารณสุข (วอส.) จำนวน 460 ขวด, ยารับประทานกำจัดเห็บหมัดสำหรับสุนัข ยี่ห้อ En-Dex 8000 (ยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับ) จำนวน 360 กล่อง, ผลิตภัณฑ์กำจัดปลวกที่ใช้เป็นส่วนผสม, ฉลาก บรรจุภัณฑ์ ฝาอลูมิเนียม และขวดบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ผลิต จำนวน 38,825 ชิ้น รวมทั้งสิ้น 40,450 ชิ้น
จากการสืบสวนทราบว่าผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัขยี่ห้อฟิติกที่ถูกปลอมนั้น ได้รับอนุญาตให้ผลิตและจัดจำหน่ายจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยมี บริษัท เคมแฟค จำกัด เป็นผู้ผลิต ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู ต.บางปูใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ แต่กลุ่มเครือข่ายดังกล่าว ได้ฉวยโอกาสปลอมโดยซื้อส่วนประกอบบางชนิด มาบรรจุเอง และแพ็คลงในบรรจุภัณฑ์ ภายในบ้านพักย่าน แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง ให้มีลักษณะเหมือนกับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตจาก อย.
นอกจากนี้ ยังมีการลักลอบผลิต ผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัขและแมว ยี่ห้ออื่น ๆ
ที่ไม่ได้รับอนุญาต โดยนำผลิตภัณฑ์กำจัดปลวกมาผสมกับแอลกอฮอล์ จากนั้นกรอกใส่ภาชนะ โดยใช้แรงงานคน โดยไม่มีการชั่งตวงวัดปริมาณ ส่วนประกอบอย่างมีมาตรฐาน ในสถานที่ผลิตที่ไม่สะอาดและไม่ถูกสุขลักษณะ ส่งขายราคาขวดละ 50 - 70 บาท ผ่านชอปปี้ ลาซาด้า และตามร้านเพ็ทช็อปทั่วประเทศ มียอดขายประมาณเดือนละ 4,000 - 5,000 ชิ้น โดยทำมาแล้วประมาณ 3 ปี
อนึ่ง ผลิตภัณฑ์ยาและวัตถุอันตรายที่ตรวจยึด เจ้าหน้าที่ อย. ส่งตรวจวิเคราะห์ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันผลตรวจวิเคราะห์อีกครั้งเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม
1. พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510
- กรณียารับประทานเพื่อกำจัดเห็บหมัดผู้จำหน่ายจะมีความผิดฐาน “ขายยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ “ขายยาไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
2. พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
- ฐาน “ผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ฐาน “ผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ปลอม” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 700,000 บาท
- ฐาน “ผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ขึ้นทะเบียน” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท
- ฐาน “ขายวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง โดยเป็นการกระทำของผู้ผลิต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
ภก. วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่สืบสวน ขยายผล สืบหาแหล่งผลิตวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาตและผลิตวัตถุอันตรายปลอม, แหล่งขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาและขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต จนสามารถตรวจยึดของกลางเป็นจำนวนมาก
ผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดปลอม และผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดไม่มีเลขทะเบียนอาจไม่มีสารสำคัญ หรือมีปริมาณสารสำคัญต่ำกว่าหรือสูงกว่าปริมาณที่กำหนด โดยหากมีปริมาณต่ำกว่าที่กำหนด จะไม่มีประสิทธิภาพในการกำจัดเห็บหมัด และหากมีปริมาณสูงกว่าที่กำหนดอาจเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง จึงขอเตือนผู้ที่มีสัตว์เลี้ยงให้ระมัดระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัด โดยควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดที่มีเลขทะเบียนและการแสดงฉลากถูกต้อง เลือกซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ สังเกตสัตว์เลี้ยงหลังใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ หากใช้แล้วไม่ได้ผล ให้หยุดใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้วนำสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ หากสัตว์เลี้ยงมีอาการเจ็บป่วย ควรพาไปรับการรักษาจากสัตวแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกสำหรับสัตว์ หากเจ็บป่วยเล็กน้อยควรซื้อยาจากร้านขายยาที่มีใบอนุญาต
หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยสามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th, Line: @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า ผู้ผลิตและขายยาจะต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง เพื่อเป็นหลักประกันเบื้องต้นว่ายาที่ผลิตมาสู่ท้องตลาดมีมาตรฐาน และรักษาโรคได้จริง นอกจากยาที่ใช้ในมนุษย์แล้ว ยาที่ใช้สำหรับสัตว์ต้องขออนุญาตผลิตให้ถูกต้อง เพราะหากผลิตโดยกระบวนการที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์เลี้ยงเมื่อเรานำยามาใช้ อาจเกิดการระคายเคืองหรือบาดเจ็บแล้ว สัตว์ไม่สามารถบอกให้ผู้เลี้ยงทราบได้ บก.ปคบ. จะดำเนินกวดขันจับกุมผู้ผลิตและขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ยาปลอม รวมถึงกวาดล้างผู้ที่ผลิตและขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ถึงที่สุด โดยประชาชนทั่วไป หากพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค
“ผู้ต้องหาหรือจําเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคําพิพากษาถึงที่สุด”
************************************
วันที่เผยแพร่ข่าว 23 เมษายน 2567 แถลงข่าว 26 / ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567