อย. เปิดเวทีให้ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบการ นักวิจัย ประชาชน ร่วมแสดงความเห็นในการประเมินผลสัมฤทธิ์กฎหมายเครื่องมือแพทย์ เพื่อยกระดับมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการผลิต นำเข้า หรือขายเครื่องมือแพทย์ ให้ประชาชนใช้เครื่องมือแพทย์ที่มีคุณภาพและปลอดภัย สร้างความยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศ
เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะที่รับผิดชอบการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ได้เปิดเวทีให้ผู้ประกอบการ นักวิจัย ประชาชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมแสดงความเห็นในการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายเครื่องมือแพทย์ หลังมีการบังคับใช้มากว่า 5 ปี ซึ่งกฎหมายที่ อย. เปิดรับฟังความคิดเห็น ได้แก่ พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 และกฎหมายลำดับรอง ได้แก่ กฎกระทรวง จำนวน 7 ฉบับ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 76 ฉบับ ประกาศคณะกรรมการเครื่องมือแพทย์ จำนวน 4 ฉบับ ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จำนวน 42 ฉบับ และระเบียบคณะกรรมการเครื่องมือแพทย์ จำนวน 1 ฉบับ ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่ากฎหมายมีความเหมาะสม ตอบโจทย์ต่อการพัฒนาขับเคลื่อนระบบการคุ้มครองผู้บริโภคในการรองรับสถานการณ์ทางการแพทย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปิดเวทีประเมินผลสัมฤทธิ์กฎหมายเครื่องมือแพทย์ในครั้งนี้ มีเป้าหมายในการพัฒนาและยกระดับมาตรการควบคุมการผลิต นำเข้า หรือขายเครื่องมือแพทย์ผ่านกลไกทางกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยจากการใช้เครื่องมือแพทย์ที่มีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานสากล ตลอดจนสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
******************************************************
วันที่เผยแพร่ข่าว 26 ธันวาคม 2567 ข่าวแจก 66 / ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568