กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ จัดช่องทางพิเศษ SME Fast Lane ให้บริการคำปรึกษาเชิงรุกและการขอใบอนุญาตแบบ One Stop Service กลุ่มผู้ประกอบการ SME เริ่มกลุ่มสมุนไพรและอาหาร
วันนี้ (10 พฤศจิกายน 2565) ที่ ศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิด “ช่องทางพิเศษสำหรับให้บริการแก่ผู้ประกอบการกลุ่ม SME : SME Fast Lane” โดยมี นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้บริหารสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมงาน
ดร.สาธิต กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SME เข้าถึงการดูแลของภาครัฐ และ
สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้บริการขออนุมัติ/อนุญาตต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ โดยช่องทางพิเศษให้บริการแก่ผู้ประกอบการกลุ่ม SME : SME Fast Lane เกิดจากความร่วมมือของ 3 หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการพัฒนาช่องทางการให้บริการเพื่อให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงบริการของภาครัฐที่สะดวก รวดเร็ว และเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด เช่น การให้คำปรึกษา การขึ้นทะเบียน ขอใบอนุญาต ข้อมูลวิชาการต่าง ๆ สำหรับนำไปต่อยอดทางธุรกิจ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการบูรณาการข้อมูลเชื่อมโยงระบบงานบริการ SME One ID โดยจัดทำเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ในภาพรวมของประเทศด้วย ถือเป็นก้าวสำคัญในการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐที่จะขับเคลื่อนการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของประเทศที่ว่า “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
ด้านนายแพทย์ไพศาล กล่าวว่า โครงการ “SME Fast Lane” เป็นการเพิ่มช่องทางพิเศษอำนวย
ความสะดวกแก่ผู้ประกอบการรายย่อย (Micro SME) และผู้ประกอบการขนาดย่อม (SME) ได้เข้าถึงบริการด้านต่าง ๆ เช่น รายละเอียดขั้นตอน การกรอกข้อมูลหรือการเตรียมเอกสารต่าง ๆ เพื่อขอรับอนุญาตด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้บริการให้คำปรึกษาเชิงรุก (Pro-Active Consultation) ในด้านกระบวนการขออนุญาต การจัดเตรียมข้อมูลเอกสาร และการให้บริการด้านใบอนุญาตต่าง ๆ ของ อย. แบบ One Stop Service โดยในระยะเริ่มต้นให้บริการสำหรับผู้ประกอบการ SME กลุ่มสมุนไพรและอาหาร ที่อาคาร 6 ชั้น 4 อย. และจะขยายบริการให้ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ที่ อย. ดูแลรับผิดชอบในระยะต่อไป
ด้าน ดร.วีระพงศ์ กล่าวว่า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ MSME ที่มีมากกว่า 3 ล้านราย และเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม สสว. ได้ร่วมกับ สพร. พัฒนาระบบทะเบียนและการยืนยันตัวตนสำหรับผู้ประกอบการทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล รวมถึงประสานกับหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจให้บริการแก่ผู้ประกอบการ MSME ในการเชื่อมโยงข้อมูลผู้ประกอบการจากระบบฐานข้อมูล SME One ID ให้ผู้ประกอบการสามารถใช้หมายเลข ID เดียวในการเข้าถึงบริการของภาครัฐทุกหน่วยงาน ลดความยุ่งยากในการจัดเตรียมเอกสารซึ่งเป็นต้นทุนและอุปสรรคในการขอรับอนุญาต ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้ารับบริการกับหน่วยงานรัฐโดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนใหม่ และที่สำคัญคือ เข้าถึงบริการและโครงการที่ภาครัฐส่งเสริมและสนับสนุนได้สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องรอการยืนยันเอกสารในรูปแบบเดิม
***************************************************
วันที่เผยแพร่ข่าว 10 พฤศจิกายน 2565 แถลงข่าว 3/ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566