อย. เผยผลตรวจวิเคราะห์อาหารทะเลจากประเทศญี่ปุ่น ไม่พบปริมาณกัมมันตรังสีเกินเกณฑ์มาตรฐาน และเฝ้าระวังติดตามข้อมูลทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างเข้มงวด ไม่ให้อาหารทะเลปนเปื้อนกัมมันตรังสี เล็ดลอดเข้ามาในประเทศ ขอให้ผู้บริโภควางใจ
เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีมาตรการเฝ้าระวังและตรวจสอบการนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศญี่ปุ่นอย่างเข้มงวด ตั้งแต่ได้รับข้อมูลการปล่อยน้ำปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดฟุกุชิมะลงสู่ทะเล เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 โดยดำเนินการเก็บตัวอย่างอาหารทะเลนำเข้าจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงไปแล้ว 75 ตัวอย่าง เช่น ปลาหมึก หอย ปู เป็นต้น ส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณกัมมันตรังสี ซีเซียม-134 (Cs-134) และซีเซียม-137 (Cs-137) ที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เนื่องจากซีเซียมเป็นสารกัมมันตรังสีหลักที่ปล่อยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สู่สิ่งแวดล้อม ผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างอาหารทั้งหมด 42 ตัวอย่าง ไม่พบปริมาณกัมมันตรังสีเกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข และอีก 33 ตัวอย่าง ยังอยู่ระหว่างการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ โดย อย. ได้กักสินค้าระหว่างตรวจวิเคราะห์ หากไม่พบสารกัมมันตรังสี จะสามารถนำสินค้าไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ แต่หากตรวจพบสารกัมมันตรังสีจะทำลายสินค้าและระงับการนำเข้าทันที
ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นและวางใจในการดำเนินงานของ อย. ซึ่งมีการเฝ้าระวังและติดตามข้อมูลทั้งจากในและต่างประเทศอย่างเข้มงวดเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับอาหารที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัย อนึ่ง หาก อย. พบผลิตภัณฑ์อาหารใดที่เป็นอันตราย จะประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ประชาชนทราบทันที และหากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์อาหารใดสงสัยว่าจะเป็นอันตราย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
******************************************************
วันที่เผยแพร่ข่าว 25 กันยายน 2566 ข่าวแจก 184 / ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566