Continue to Zero ทำต่อเนื่อง อย่างจริงจัง มุ่งมั่นกำจัด ให้สิ้นยาเสพติด การเผาทำลายยาเสพติดของกลางทั้งสิ้นกว่า 20 ตัน
25 มิถุนายน 2567

               อย. และหน่วยงานภาคีเครือข่ายกว่า 13 องค์กร ร่วมปฏิบัติการ Continue to Zero ทำต่อเนื่องอย่างจริงจัง มุ่งมั่นกำจัด ให้สิ้นยาเสพติด ที่มีน้ำหนักยาเสพติดของกลางรวมทั้งสิ้นกว่า 20 ตัน จาก 41,800 คดี ณ คลังยาเสพติดของกลาง ตึกสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

               นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และนายธนากร คัยนันท์ ที่ปรึกษาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ปปส.) ร่วมกันแถลงต่อสื่อมวลชนว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กองทัพบก และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกันตรวจสอบยาเสพติดของกลางเกี่ยวกับเลขคดี ชนิดของยาเสพติดและน้ำหนักของยาเสพติด พร้อมสุ่มตัวอย่างโดยเจ้าหน้าที่จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อเป็นการยืนยันว่ายาเสพติดของกลางที่จะนำไปทำลายเป็นยาเสพติดจริง เมื่อได้รับการตรวจสอบยืนยันโดยคณะทำงานทำลายยาเสพติดให้โทษของกลางด้านตรวจรับแล้ว ยาเสพติดของกลางจะถูกส่งมอบให้คณะทำงานทำลายยาเสพติดของกลางด้านขนย้าย ในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 เพื่อขนยาเสพติดของกลางดังกล่าวไปยังสถานที่ทำลาย ณ บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) นิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ในเวลา 11.00 น. โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ปล่อยขบวนรถขนย้ายยาเสพติดของกลาง และในเวลา 14.20 น. จะมีพิธีเผาทำลายยาเสพติดของกลาง ณ บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) นิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนว่ายาเสพติดเหล่านี้จะไม่ถูกนำกลับมาหมุนเวียนในวงจรการกระทำผิด รวมถึงตอกย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่น จริงจัง ในการปฏิบัติการตามนโยบายของรัฐบาลในการต่อสู้กับปัญหายาเสพติด เพื่อประชาชนไทยและสังคมโลก

               สำหรับการทำลายยาเสพติดของกลางครั้งนี้ เป็นปฏิบัติการ Continue to Zero ทำต่อเนื่อง อย่างจริงจังมุ่งมั่นกำจัด ให้สิ้นยาเสพติด จากคลังยาเสพติดของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จำนวนรวมทั้งสิ้นกว่า 20 ตัน จาก 41,800 คดี โดยมีเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) มากที่สุดกว่า 16,664 กิโลกรัม รองลงมา ได้แก่ เมทแอมเฟตามีน (ยาไอซ์) เฮโรอีน เอ็มดีเอ็มเอ โคคาอีน ไดเมทิลแอมเฟตามีน และยาเสพติดอื่น ๆ ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการนำยาเสพติดทั้งหมดไปทำลายจะไม่เหลือคงค้างในคลังยาเสพติดอีกต่อไป

**********************
วันที่เผยแพร่ข่าว 25 มิถุนายน 2567  แถลงข่าว 35  /  ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

คลังรูปภาพ