อย. และกรมควบคุมมลพิษ ร่วมผลักดัน “ขวดน้ำดื่มใสไร้ฉลากพลาสติก” เพื่อนำไปใช้รีไซเคิล ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
26 ธันวาคม 2567

อย. และ กรมควบคุมมลพิษ ร่วมหารือแนวทางปรับกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมขวดน้ำดื่มไร้ฉลากพลาสติก พร้อมพัฒนาฉลากดิจิทัลและวิธีแสดงข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่จำเป็น เพื่อลดขยะพลาสติกซึ่งเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเสนอแนวทางลดภาษีเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมใช้พลาสติกรีไซเคิล

เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และนางกัญชลี นาวิกภูมิ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมเจ้าหน้าที่จากทั้งสองหน่วยงาน ร่วมกันหารือถึงแนวทางการปรับแก้ไขกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการใช้ขวดน้ำดื่มแบบไร้ฉลากพลาสติก และพัฒนาวิธีการสื่อสารข้อมูลผลิตภัณฑ์ผ่านฉลากดิจิทัล เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นในสังคมไทย โดยใช้เทคนิคการปั๊มนูน การพิมพ์ด้วยหมึกเกรดสัมผัสอาหาร การพิมพ์ด้วยเลเซอร์เพื่อแสดงข้อมูลที่จำเป็นบนภาชนะบรรจุน้ำดื่ม และใช้ QR CODE บนฝาขวดแสดงข้อมูลอื่น ๆ แทนการใช้ฉลากพลาสติกแบบเดิมที่ยากต่อการรีไซเคิลและก่อให้เกิดขยะพลาสติกที่เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม จากข้อมูลสถาบันพลาสติก ปี 2564 ปริมาณขยะพลาสติกในประเทศไทย 5.68 ล้านตัน แต่นำกลับมาใช้ใหม่แค่ 19% เท่านั้น คาดการณ์ว่า ปริมาณการจัดหาและการผลิตพลาสติกรีไซเคิล (rPET) จะเพิ่มขึ้นจาก 228,000 ตัน และ 128,000 ตัน ในปี 2561 เป็น 550,000 ตัน และ 290,000 ตัน ในปี 2573 ส่วนมูลค่าตลาด PET รีไซเคิลในปี 2020 อยู่ที่ 13.87 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตที่อัตรา 5.7% ต่อปีจนถึงปี 2029

เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ  กล่าวต่อไปว่า อย. กำลังร่างกฎระเบียบใหม่ เพื่อให้ผู้ผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดสามารถใช้วิธีการแสดงข้อมูลโดยไม่จำเป็นต้องใช้แผ่นพลาสติกเป็นฉลากห่อหุ้มขวด เนื่องงจากกาวและหมึกพิมพ์ที่ปนเปื้อน ทำให้ยากต่อกระบวนการรีไซเคิลขวดพลาสติกชนิด PET  ทำให้ราคาเม็ดพลาสติกรีไซเคิลสูงกว่าเม็ดพลาสติกใหม่ ทั้งนี้หากปรับกฎระเบียบแล้วผู้ผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด รวมถึงน้ำแร่ธรรมชาติ จะสามารถแสดงข้อมูลที่จำเป็นบนภาชนะบรรจุ เช่น ชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร ปริมาณ วันที่ผลิต หรือวันหมดอายุ ผ่านวิธีการต่าง ๆ เช่น การปั๊มนูนหรือการพิมพ์ด้วยเลเซอร์ และสามารถแสดงข้อมูลอื่นด้วย QR CODE บนฝาขวดได้ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่ใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิล  โดยการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อ ลดภาษี จูงใจผู้ผลิตน้ำดื่มให้เปลี่ยนมาใช้วัสดุรีไซเคิล ผลักดันแนวทางการจัดการขยะพลาสติก ลดการพึ่งพาพลาสติกใหม่ที่นำเข้าจากต่างประเทศ และร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของประเทศต่อไป

******************************************************
วันที่เผยแพร่ข่าว 26 ธันวาคม 2567  ข่าวแจก 68  /  ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

คลังรูปภาพ