กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ., กระทรวงสาธารณสุข โดย นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมปฏิบัติการตรวจค้นโรงงานผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปลอม และเครื่องสำอางไม่มีเลขจดแจ้ง ตรวจยึดของกลาง 76 รายการ จำนวนกว่า 17,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท
พฤติการณ์กล่าวคือ สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีมาตรการในการเฝ้าระวังเครื่องสำอางที่เป็นผลิตภัณฑ์ปลอม และไม่มีเลขจดแจ้ง เนื่องจากไม่ทราบถึงส่วนผสมและมาตรฐานการผลิต ซึ่งหากประชาชนซื้อไปใช้อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ และเกิดปัญหาต่อผิวและร่างกายในระยะยาว ประกอบกับได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนให้ทำการตรวจสอบโกดังแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ว่ามีการลักลอบผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางโดยไม่ได้รับอนุญาต
เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่ามีการลักลอบผลิตเครื่องสำอางในพื้นที่ดังกล่าวจริง โดยมีการใช้กล่องลังเบียร์และซอสปรุงรสที่ใช้แล้วบรรจุผลิตภัณฑ์ที่ผลิตสำเร็จเพื่อปิดบังการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลแขวงสมุทรปราการ เพื่อขออนุมัติหมายค้น
ต่อมาในวันที่ 19 กันยายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นำหมายค้นของศาลแขวงสมุทรปราการ เข้าทำการตรวจค้นสถานที่ผลิตและจัดเก็บผลิตภัณฑ์ดังกล่าว พบ น.ส.นลิตา (สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี แสดงตัวเป็นเจ้าของสถานที่ดังกล่าว โดยขณะตรวจค้นพบการลักลอบผลิตเครื่องสำอางอยู่ด้วยการต้ม กวน และบรรจุลงถุงพลาสติกเพื่อรอการส่งให้ลูกค้าตามออเดอร์ภายในโกดังที่อยู่ระหว่างการต่อเติมโดยใช้ผ้าใบล้อมรอบไว้ ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่าสถานที่ผลิตดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตผลิตเครื่องสำอาง ตรวจยึดและอายัดของกลาง ได้แก่
1. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง SM Lotion ไม่แสดงเลขที่จดแจ้ง บรรจุถุงพลาสติก(ถุงละ 10 กก.) จำนวน 50 ถุง
2. เครื่องสำอางเนื้อครีม รอการบรรจุใส่ถุงพลาสติก จำนวน 1,000 กิโลกรัม
3. ผลิตภัณฑ์สบู่ซึ่งฉลากแสดงวันที่ผลิตก่อนวันที่ได้รับอนุญาตจึงจัดเป็นเครื่องสำอางปลอม และแสดงฉลากอันเป็นเท็จ จำนวน 4,950 ก้อน (แสดงวันที่ผลิต 10-9-2024 ใบรับจดแจ้งอนุมัติวันที่ 11/9/67)
4. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ยี่ห้อ Zeus man moisturizer spray ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่พบว่า
มีการโฆษณาสรรพคุณเสริมสมรรถภาพทางเพศ เช่น เพิ่มระยะเวลาการมีเพศสัมพันธ์ อึด ทน และลดกลิ่น เป็นต้น ฉลากแสดงเลขที่จดแจ้ง 26-1-6700026411 ซึ่งไม่พบในฐานข้อมูล
การจดแจ้งเครื่องสำอาง จัดเป็นเครื่องสำอางปลอม และแสดงฉลากอันเป็นเท็จ จำนวน 12,960 ขวด
5. เครื่องจักรที่ใช้ผลิต เช่น หม้อต้มเครื่องสำอาง เครื่องกวนผสม วัสดุอุปกรณ์ และวัตถุดิบที่ใช้
ในการผลิตรวมทั้งฉลาก และบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ หลายรายการ
รวมของกลางจำนวน 76 รายการ มูลค่ากว่า 2,000,000 บาท ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก. ปคบ. ดำเนินคดี
จากการสืบสวนขยายผลทราบว่าสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแต่อย่างใด โดยเจ้าของสถานที่จะลักลอบผลิตและส่งให้ลูกค้าตามออเดอร์ โดยจะมีลูกค้าเป็นผู้เข้ามารับเอง โดย น.ส.นลิตาฯ กล่าวอ้างว่า ตนมีความรู้ด้านส่วนผสมและผลิตเครื่องสำอางเนื่องจากเรียนจบด้านเคมี และทำมาแล้วประมาณ 4 เดือน
ในส่วนตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึด พนักงานสอบสวนจะส่งผลิตภัณฑ์ตรวจพิสูจน์กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หากพบวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง จะเป็นความผิดเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ. เครื่องสำอาง ฐาน “ผลิตและขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้” ผู้ผลิตระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ขายระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
เบื้องต้นเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558
1. ฐาน “ผลิตเครื่องสำอางที่ไม่ได้จดแจ้ง” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง” ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
3. ฐาน “ขายเครื่องสำอางปลอม” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่ฉลากใช้ข้อความไม่ตรงต่อความจริง” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง กล่าวว่า ตามที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุขเข้มงวดในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีการลักลอบนำเข้า ส่งออก สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือสินค้าที่ลักลอบผลิตและไม่ขออนุญาตที่เป็นภัยต่อสังคม โดยกระทรวงสาธารณสุขจะมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายอย่างเข้มข้นต่อไป
เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่สืบสวนขยายผลจนสามารถหาแหล่งผลิตและจำหน่ายรวมถึงตรวจยึดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผิดกฎหมายได้จำนวนมาก
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่พบสถานที่ดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตผลิต พบเครื่องสำอางที่ไม่แสดงเลขที่จดแจ้ง เครื่องสำอางปลอมและแสดงฉลากอันเป็นเท็จ ขอเตือนผู้ผลิตทุกรายให้ปฏิบัติตามกฎหมาย หากพบการลักลอบผลิตที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย อย. จะดำเนินคดีโดยเคร่งครัด
ขอย้ำเตือนประชาชนว่าการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางควรเลือกซื้อที่มีฉลากภาษาไทย แสดงชื่อเครื่องสำอาง ชื่อทางการค้า ประเภทเครื่องสำอาง ชื่อของสารที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิตหรือปีเดือนที่ผลิต คำเตือน (ถ้ามี) และเลขที่ใบรับจดแจ้ง มีการระบุแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ หากมีปัญหาจะติดต่อผู้รับผิดชอบได้ ซื้อเครื่องสำอางที่ไม่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง อย. ไม่อนุญาตการโฆษณาที่อวดอ้าง เป็นเท็จ หลอกลวง และเกินจริง หากพบจะดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำการโฆษณาทุกกรณี ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และ Line@FDAThai หากพบผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าผิดกฎหมายแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ควรตรวจสอบฉลากบรรจุภัณฑ์ สี กลิ่น อย่างถี่ถ้วน และควรเลือกซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น เครื่องสำอาง อาหารเสริม และยา ที่ถูกเกินกว่าปกติ หรือโฆษณาอวดอ้างผลที่เกินจริง ให้ระลึกไว้เสมอว่าท่านกำลังเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อการโฆษณาและได้ของปลอม ของไม่มีคุณภาพใช้แล้วอาจเกิดอาการแพ้ และขอเน้นย้ำกับผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งหลายว่าอย่านำสินค้าที่ผิดกฎหมายมาจำหน่ายหรือหลอกลวงผู้บริโภคโดยเด็ดขาด หากพบจะดำเนินการทางกฎหมาย
ให้ถึงที่สุด ทั้งนี้ผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดกฎหมายในลักษณะอื่นใด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ปคบ.1135 หรือ เพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา
“ผู้ต้องหาหรือจําเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคําพิพากษาถึงที่สุด”
************************************
วันที่เผยแพร่ข่าว 24 กันยายน 2567 / แถลงข่าว 41 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567