ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วม อย. ทลายโกดังทุนจีนปลอมเครื่องสำอางแบรนด์ดังและเครื่องสำอางเถื่อน มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท
29 มกราคม 2567

วันที่ 29 มกราคม 2567 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.วิวัฒน์  ชัยสังฆะ รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์  เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ.โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ  นากแก้วพ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.วีระพงษ์  คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ณรงค์  อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมแถลงผลการปฏิบัติกรณี ทลายโกดังทุนจีนขายเครื่องสำอางปลอม และเครื่องสำอางเถื่อน โดยลวงขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ตรวจยึดของกลาง 36 รายการ จำนวนกว่า 14,000 ชิ้น

พฤติการณ์กล่าวคือ สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ “ครีมทารักแร้ ยี่ห้อ ELA RAE” ให้ทำการตรวจสอบการจำหน่ายเครื่องสำอางปลอมผ่านแพลตฟอร์ม Tiktok ชื่อร้าน LUNA-TH เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากลูกค้าที่ซื้อกับทางร้านว่าเนื้อครีมมีลักษณะเปลี่ยนไปจากเดิมเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการตรวจสอบร้านค้าออนไลน์ดังกล่าวพบว่า ผลิตภัณฑ์ครีมทารักแร้ยี่ห้อ ELA RAE ที่จำหน่ายเป็นสินค้าปลอมจริง โดยมีจุดสังเกตหลายจุด เช่น เนื้อครีมมีลักษณะข้น เหนียว สีคล้ำกว่าของแท้ ฉลากพิมพ์ข้อความภาษาไทยไม่ถูกต้อง เช่น เนียนบุ๋ม กลี่น สะอาต เป็นต้น และยังพบว่าร้านค้าดังกล่าวมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางอื่น ๆ ที่ราคาถูกกว่าท้องตลาดอีกหลายรายการ จึงทำการสืบสวนจนทราบถึงสถานที่จัดเก็บสินค้าและกระจายสินค้าดังกล่าว

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกันนำหมายค้นของศาลอาญามีนบุรี เข้าทำการตรวจค้นโกดังซึ่งเป็นสถานที่จัดเก็บและกระจายสินค้าที่ผิดกฎหมาย ในพื้นที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร โดยขณะตรวจค้นมี น.ส.ชไมพร (สงวนนามสกุล) แสดงตัวเป็นผู้ดูแลโกดังดังกล่าว ตรวจยึดของกลางรวม 36 รายการ รวม 14,720 ชิ้น มูลค่ากว่า 3,600,000 บาท โดยเป็นเครื่องสำอางปลอม และเครื่องสำอางต้องสงสัยว่าปลอม จำนวน 16 รายการ และเป็นเครื่องสำอางไม่มีเลขที่ใบรับจดแจ้งและเครื่องสำอางไม่แสดงฉลากภาษาไทย จำนวน 20 รายการ ดังนี้

1. ครีม ยี่ห้อ ELA RAE ปลอม                                                                      จำนวน 48 ชิ้น

2. ยาสีฟัน Amway Glister ปลอม                                                                จำนวน 160 ชิ้น

3. เจเค เอกซ์แลป  EX-A เอ็กซ์เอ บอดีครีม (ต้องสงสัยว่าปลอม)                 จำนวน 3,200 ชิ้น

4. โลชั่น PWB Prink White Bumm (ต้องสงสัยว่าปลอม)                        จำนวน 1,584 ชิ้น

5. เซรั่ม Neo Hair นีโอแฮร์ แฮร์ทรีทเมนต์ (ต้องสงสัยว่าปลอม)                 จำนวน 80 ชิ้น

6. นาดิส ไลฟลี่ บัตครีม (NAKIZ LIVELY BUTT) (ต้องสงสัยว่าปลอม)            จำนวน 95 ชิ้น

7. KOSE Softymo Speedy Cleansing Oil (ต้องสงสัยว่าปลอม)                จำนวน 600 ขวด

8. CERAVE Foaming Cleanser (ต้องสงสัยว่าปลอม)                            จำนวน 60 ขวด        

9. CERAVE SA Smoothing Cleanser (ต้องสงสัยว่าปลอม)                     จำนวน 190 ขวด

10. CERAVE Moisturising Lotion (ต้องสงสัยว่าปลอม)                         จำนวน 62 ขวด        

11. CERAVE Hydrating Hyaluronic Acid Serum (ต้องสงสัยว่าปลอม)       จำนวน 48 ขวด

12. CERAVE Resurfacing Retinol Serum (ต้องสงสัยว่าปลอม)               จำนวน 82 ขวด

13. CERAVE AM Facial Moisturizing Lotion (ต้องสงสัยว่าปลอม)            จำนวน 92 ขวด

14. CERAVE PM Facial Moisturizing Lotion (ต้องสงสัยว่าปลอม)            จำนวน 92 ขวด

15. CERAVE Skin Renewing Retinol Serum (ต้องสงสัยว่าปลอม)            จำนวน 48 ขวด

16. ครีมกันแดด Biore UV 50+PA+++ (ต้องสงสัยว่าปลอม)                          จำนวน 92 ขวด

17. เครื่องสำอาง Restoria Discreet colour restong cream                         จำนวน 80 ขวด   

18. น้ำหอม victoria S fleur  ROSe                                                             จำนวน 10 ขวด

19. น้ำหอม VICTORIA  S fleur  VIOLET PLUM                                        จำนวน 10 ขวด

20. ครีมทามือตราม้า  HORSE OIL                                                            จำนวน 120 ขวด        

21. ครีม RtopR MANGO EXFOLIATING GEL ขนาด 40 กรัม                      จำนวน 6,048 หลอด

22. ครีม Aichum Beauty Whitening cream                                             จำนวน 124 ขวด        

23. ผลิตภัณฑ์ XOERMIOY 100g                                                             จำนวน  48 หลอด

 24. กระดาษทิชชู่เปียก                                                                            จำนวน 80 ห่อ            

 25. ผลิตภัณฑ์ MEIDIAN LOT 23E20A                                                     จำนวน 30 กล่อง

 26. ผลิตภัณฑ์ YAQINUO AVOCADO MOISTURZING EYE CREAM           จำนวน 390 กล่อง       

27. ผลิตภัณฑ์ lessxcoco charming frarance solid balm                                จำนวน 340 กล่อง

 28. ผลิตภัณฑ์ PSORIASIS CREAM                                                             จำนวน 36 หลอด

29. ผลิตภัณฑ์ Candy bella                                                                             จำนวน 55 กล่อง

30. ผลิตภัณฑ์ KILO .COTE                                                                            จำนวน 90 หลอด

31. ผลิตภัณฑ์ GENITAL WART REMOVER CREAM                                     จำนวน 130 หลอด      

32. ผลิตภัณฑ์ ADVANCED BEAUTIFUL CURVE                                             จำนวน 40 หลอด 

33. ผลิตภัณฑ์ LIPOMA CREAM                                                                         จำนวน 48 หลอด 

34. ผลิตภัณฑ์ SEOMOU DEEP HYDRATION SERIRS                                    จำนวน 200 ซอง           

35. ผลิตภัณฑ์ MSYAHO VIVID BAKED TERRACOTTA                                     จำนวน 30 ตลับ

36. ผลิตภัณฑ์ SUMIFUN WART REMOVER OINTMENT                                 จำนวน 280 หลอด      

จากการสืบสวนเพิ่มเติมพบว่า โกดังเก็บสินค้าดังกล่าว มีการบริหารจัดการในลักษณะ “เก็บ แพ็ค ส่ง” หรือ Fulfillment โดย น.ส.ชไมพรฯ พนักงาน แจ้งว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นของ Mr. Shanke (สงวนนามสกุล) นายทุนสัญชาติจีน ซึ่งจะเป็นผู้สั่งสินค้าเครื่องสำอางที่เป็นกระแส และกำลังเป็นที่นิยมในสื่อออนไลน์มาจากประเทศจีน จากนั้นจะนำมาฝากไว้ที่โกดังเก็บสินค้าย่านลาดกระบังเพื่อรอแพ็คส่งให้ลูกค้าชาวไทย

โดยกลุ่มนายทุนชาวจีนดังกล่าวจะเปิดร้านค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อใช้โฆษณาสินค้าเป็นจำนวนมาก รวม 9 ร้าน เพื่อกระจายการโฆษณาหากถูกปิดกั้นเพจ จากนั้นจะส่งออเดอร์-ที่อยู่การจัดส่ง ให้ น.ส.ชไมพรฯ ทำการแพ็คบรรจุ และส่งให้กับลูกค้าชาวไทย โดยจะได้ค่าส่งชิ้นละประมาณ 10 บาท และทำมาแล้วประมาณ 2 ปี โดยมียอดการส่งสินค้าสูงถึง 5,000 - 10,000 ชิ้น/วัน

ในส่วนผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยว่าปลอมอื่น ๆ อยู่ระหว่างติดต่อให้ บริษัท เจ้าของผลิตภัณฑ์ตรวจสอบและยืนยันเพิ่มเติม และในส่วนตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึด พนักงานสอบสวนจะส่งตรวจพิสูจน์กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หากผลการตรวจวิเคราะห์พบวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง จะเป็นความผิดเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ. เครื่องสำอาง 2558 ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้” ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558

1. ฐาน “ขายเครื่องสำอางปลอม” ระวางโทษจำคุก 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่ไม่ได้จดแจ้ง” ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

3. ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่ไม่มีฉลากภาษาไทย” ระวางจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4. หากผลการตรวจวิเคราะห์พบวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง จะเป็นความผิดเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ. เครื่องสำอาง 2558 ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่สืบสวนขยายผลสืบหาโกดังจำหน่ายเครื่องสำอางปลอม จนสามารถตรวจยึดเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมายได้จำนวนมาก

การดำเนินการในครั้งนี้เป็นการจับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปลอม และเครื่องสำอางไม่มีเลขที่ใบรับจดแจ้ง ไม่แสดงฉลากภาษาไทย จึงขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทางสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีราคาถูกเกินกว่าปกติ หรือโฆษณาโปรโมชั่นการตลาดที่ราคาลดลงจนไม่น่าเป็นไปได้  ให้ระลึกไว้เสมอว่าท่านกำลังเสี่ยงต่อการได้ของปลอม ของไม่มีคุณภาพ

ขอย้ำเตือนพี่น้องประชาชนว่า ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ จะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนจำหน่ายโดยสามารถดูได้ที่ฉลากผลิตภัณฑ์หรือที่บรรจุภัณฑ์ ควรซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน กรณีซื้อออนไลน์ให้ซื้อจากร้านค้าออนไลน์ที่มีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และ Line: @FDAThai หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line: @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

พล.ต.ต.วิทยา  ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ควรตรวจสอบฉลากบรรจุภัณฑ์ สี กลิ่น อย่างถี่ถ้วน และควรเลือกซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น เครื่องสำอาง และอาหารเสริม ที่ถูกเกินกว่าราคาปกติ หรือโฆษณาอวดอ้างผลที่เกินจริง ให้ระลึกไว้เสมอว่าท่านกำลังเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อการโฆษณาและได้ของปลอม ของไม่มีคุณภาพ ใช้แล้วอาจเกิดอาการแพ้ และขอเน้นย้ำกับผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งหลายว่าอย่านำสินค้าที่ผิดกฎหมายมาจำหน่ายหรือหลอกลวงผู้บริโภคโดยเด็ดขาด หากพบจะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด ทั้งนี้ ผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดกฎหมายในลักษณะอื่นใด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ปคบ.1135 หรือ เพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค ได้ตลอดเวลา

 “ผู้ต้องหาหรือจําเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคําพิพากษาถึงที่สุด”

************************************

วันที่เผยแพร่ข่าว  29 มกราคม 2567  /  แถลงข่าว 18  ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

คลังรูปภาพ