ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วม อย. สสจ.นครปฐม และปศุสัตว์ จ.นครปฐม ตัดวงจรยาสัตว์เถื่อน ทลาย 2 เครือข่ายผลิต จำหน่าย และนำเข้า มูลค่ากว่า 84 ล้านบาท
19 มิถุนายน 2567

ตามที่รัฐบาลโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายที่สำคัญให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายหลอกลวงประชาชน ซึ่งสร้างความเดือดร้อนเสียหายให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก จึงได้สั่งการให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องดำเนินการเร่งปราบปราม เพื่อมิให้มีผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายในท้องตลาด และให้ดำเนินการกับผู้ที่ลักลอบกระทำผิดกฎหมายให้ถึงที่สุด

วันที่ 18 มิถุนายน 2567 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย, พล.ต.ต.โสภณ  สารพัฒน์ รอง ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ., กระทรวงสาธารณสุขโดย นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม โดย ภก.วีระศักดิ์ เหล่าตระกูล เภสัชกรเชี่ยวชาญ (ด้านเภสัชสาธารณสุข) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม โดย น.สพ.บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์, น.สพ.วรากร จิตรหลัง ปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม แถลงผลการปฏิบัติการกรณีบุกทลายเครือข่ายผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และนำเข้ายาสัตว์เถื่อน ในพื้นที่ .นครปฐม และ จ.สมุทรสาคร ตรวจยึดของกลางกว่า 214,894 ชิ้น มูลค่าความเสียหายกว่า 84,000,000 บาท

สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ทำการตรวจสอบการลักลอบผลิตยาสัตว์ สถานที่เก็บ และร้านจำหน่ายยาสัตว์เถื่อน ซึ่งหากนำมาใช้กับสัตว์อาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยง ส่งผลให้มีอายุขัยเฉลี่ยน้อยลงกว่าวัยอันควร เกิดภาวะช็อก หมดสติ หรืออาจเสียชีวิต อีกทั้งแม้ยาดังกล่าวไม่มีผลโดยตรงกับมนุษย์แต่อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง หรือแพ้ได้ โดยเมื่อประมาณ เดือนเมษายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กวาดล้างแหล่งผลิตและจำหน่ายยาหยอดเห็บหมัดสัตว์เถื่อน ตรวจยึดของกลางกว่า 40,450 ชิ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง แต่ยังพบการจำหน่ายอยู่ตามท้องตลาด จึงเป็นที่มาของการระดมกวาดล้างเครือข่ายผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และผู้นำเข้าจากต่างประเทศในครั้งนี้ จำนวน 2 เครือข่าย ในพื้นที่ จ.นครปฐม และ จ.สมุทรสาคร รายละเอียดดังนี้

1. เครือข่ายผู้ผลิตและจัดจำหน่ายในประเทศไทย สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนหาข่าว
จนทราบถึงกลุ่มเครือข่ายผู้ผลิต สถานที่จัดเก็บ สถานที่จำหน่าย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ จ.นครปฐม ต่อมาเมื่อวันที่
1
1 มิถุนายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม นำหมายค้นเข้าตรวจค้นสถานที่ต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้อง จำนวน
3 จุด ได้แก่

1.1 สถานที่ผลิต และจำหน่าย พื้นที่ ต.ห้วยขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ตรวจยึดเครื่องตอกเม็ดยา, เครื่องผสมผงยา, ยาเม็ดตอกเสร็จแล้ว, วัตถุดิบที่ใช้ผลิต, สมุดจดสูตรส่วนผสม รวมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับผลิต จำนวนกว่า 20 รายการ

1.2 สถานที่จัดเก็บสินค้า และจำหน่าย บ้านพักในพื้นที่ อ.ดอนตูม จ.นครปฐม ตรวจยึด ผลิตภัณฑ์ยาสัตว์ไม่มีทะเบียน รวมกว่า 112 รายการ เช่น

1.2.1 กลุ่มยาถ่ายพยาธิ (Anthelmintics) จำนวน 33 รายการ เช่น ยา Ivermectin 6000 mcg, Ivermec F, En-dex® 4000, IVERPETS รสเนื้อ (Ivermectin 4,000 mcg), IVERMEC-F Plus, KILLER WORM, IVERPETS รสเนื้อ (Ivermectin 4,000 mcg Praziquantel 120 มิลลิกรัม) เป็นต้น

         1.2.2 กลุ่มยาฮอร์โมน (Hormones) จำนวน 3 รายการ เช่น PROTECTER ยาคุมกำเนิดสำหรับสุนัขและแมว, CO-THAI (Estrogen Implant) และ OXYTOCIN พบยาฮอร์โมนแบบฝังและฉีด หากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
ไม่มีคุณภาพและนำไปใช้ในสัตว์บริโภค อาจทำให้มนุษย์ได้รับฮอร์โมนเกินความจำเป็น

          1.2.3 กลุ่มยาสเตียรอยด์ (Steroids) จำนวน 3 รายการ เช่น DEXON-A, Dexazin 2% และ DEXACIN® - A พบยาต้านการอักเสบ หากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีคุณภาพ และนำไปใช้ในสัตว์บริโภค อาจทำให้มนุษย์ได้รับสเตียรอยด์ จนก่อให้เกิดโรค เช่น กระดูกพรุน เกิดหนอกที่คอ กระเพาะทะลุ

          1.2.4 กลุ่มยาต้านแบคทีเรีย (antibiotics) จำนวน 31 รายการ เช่น ENRO-200, Chloramphenicol, TYSIN - PLUS, Sulfa 50%, Doxy - 20, Cefta Injection, GENTACIN 100, Ampicillin, AMOXY 10%, PENSTREP เป็นต้น พบยาประเภทยาฆ่าเชื้อในรูปแบบยาฉีดและยาในรูปแบบที่ใช้ผสมในอาหารสัตว์ ในฟาร์มสัตว์บริโภค หากยาดังกล่าวไม่มีการควบคุมคุณภาพ โดยการขึ้นทะเบียนตำรับยาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อาจก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาในมนุษย์ และยาต้านแบคทีเรียบางชนิด เช่น ยากลุ่มซัลฟา อาจทำให้เกิดอาการแพ้ยาอย่างรุนแรงได้มนุษย์ได้

1.3 สถานที่จัดเก็บสินค้า และจำหน่าย ในพื้นที่ อ.สามพราน จ.นครปฐม ตรวจยึด ผลิตภัณฑ์ยาสัตว์ไม่มีทะเบียน รวมกว่า 6 รายการ ดังนี้

 1.3.1 En-Dex ขนาด 4000® ขนาด 8000® ขนาด 12000® สำหรับกำจัดเห็บหมัดสุนัข รวม 520 กล่อง

 1.3.2 ผลิตภัณฑ์ยา Vmaxtin anti-parasitic tablet fordog ขนาด 10 Kg ,ขนาด 10-20 Kg , ขนาด 20 - 40 Kg รวม 676 กล่อง

จากการสืบสวนพบว่ากลุ่มเครือข่ายดังกล่าว เป็นกลุ่มเครือข่ายที่เคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับ อย. ดำเนินคดีมาแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2563 กรณีคดีนักวิ่งถูกวางยา "ยาไซลาซีน" ที่ใช้ในกลุ่มสัตว์ในน้ำดื่ม ขณะที่ไปวิ่งที่สวนสาธารณะพื้นที่ จ.นนทบุรี แต่การสืบสวนยังพบการยังลักลอบผลิตและจำหน่ายมาอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ตำรวจ และ อย. ได้ประสานข้อมูลและเฝ้าระวังร่วมกันมาโดยตลอด โดยพบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
มีแหล่งผลิตอยู่ในพื้นที่ อ
.กำแพงแสน โดยเมื่อผลิตเสร็จแล้ว สินค้าจะถูกนำไปจำหน่ายในพื้นที่ อ.กำแพงแสน
.ดอนตูม อ.สามพราน และกระจายตามร้านเพ็ทช็อป และผ่านช่องทางออนไลน์ไปทั่วประเทศ

2. เครือข่ายผู้นำเข้าจากต่างประเทศ สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนจนทราบถึงกลุ่มเครือข่ายผู้กระทำผิด สถานที่จัดเก็บ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยในวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตรวจค้นจัดเก็บสินค้าและจำหน่าย โกดังในพื้นที่ ต.บางน้ำจืด อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ตรวจยึดผลิตภัณฑ์ยาสัตว์ไม่มีทะเบียน ดังนี้

2.1 ใช้สำหรับรักษาการติดหมัดในสุนัข/ป้องกันการติดพยาธิตัวตืดผ่านทางหมัด/รักษาโรคขี้เรื้อนเปียก เรื้อนแห้งในสุนัข

          - NexGard สำหรับสุนัขน้ำหนัก 2 - 4 kg                            จำนวน 580    กล่อง

          - NexGard สำหรับสุนัขน้ำหนัก >4 - 10 kg                         จำนวน 600    กล่อง

          - NexGard สำหรับสุนัขน้ำหนัก >10 - 25 kg                        จำนวน 700    กล่อง

          - NexGard สำหรับสุนัขน้ำหนัก >25 - 50 kg                        จำนวน 800    กล่อง

          - FLURALANER BRAVECTO สำหรับสุนัขน้ำหนัก 2 - 4.5 kg     จำนวน 390    กล่อง

          - FLURALANER BRAVECTO สำหรับสุนัขน้ำหนัก >4.5 - 10 kg  จำนวน 1,000 กล่อง

          - FLURALANER BRAVECTO สำหรับสุนัขน้ำหนัก >10 - 20 kg   จำนวน 60     กล่อง

          - FLURALANER BRAVECTO สำหรับสุนัขน้ำหนัก >40 - 56 kg   จำนวน 200    กล่อง       

2.2 ใช้สำหรับรักษาการติดหมัดและเห็บในสุนัข/การป้องกันการเกิดโรคพยาธิหนอนหัวใจ/ป้องกันการเกิดโรคพยาธิในปอด

          - NexGard SPECTRA สำหรับสุนัขน้ำหนัก 2 - 3.5 kg                 จำนวน 490 กล่อง

          - NexGard SPECTRA สำหรับสุนัขน้ำหนัก >3.2 - 7.5 kg             จำนวน 400 กล่อง

          - NexGard SPECTRA สำหรับสุนัขน้ำหนัก >7.5 - 15 kg              จำนวน 400 กล่อง

          - NexGard SPECTRA สำหรับสุนัขน้ำหนัก >15 - 30 kg              จำนวน 50   กล่อง

          - NexGard SPECTRA สำหรับสุนัขน้ำหนัก >30 - 50 kg              จำนวน 600 กล่อง

โดยเครือข่ายผู้นำเข้าถูกตรวจยึดของกลาง ทั้งสิ้น 6,270 กล่อง มูลค่าประมาณ 4,841,200 บาท

        จากการสืบสวนพบว่า เครือข่ายผู้นำเข้าดังกล่าวมีกลุ่มนายทุนชาวจีนเป็นผู้ดำเนินการ โดยนำเข้าสินค้ามาจากประเทศจีน จากนั้นนำผลิตภัณฑ์มาเก็บไว้ที่คลังสินค้าเพื่อรอการจำหน่าย โดยมีการโฆษณาขาย ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเมื่อมีการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์จากลูกค้าในประเทศไทย ข้อมูลการสั่งซื้อดังกล่าวจะส่งไปยังประเทศจีนโดยตรง ซึ่งจะมีนายทุนจีนเป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลการสั่งซื้อกลับมายังลูกจ้างชาวจีนประจำประเทศไทยเพื่อแพ็ค และส่งสินค้าให้ลูกค้าในประเทศไทย โดยทำมาแล้วประมาณ 4 เดือน ยอดขายเดือนละ 500 กล่องโดยเป็นจำนวนเงินเฉลี่ย เดือนละ 300,000 บาท

รวมตรวจค้น 4 จุด ตรวจยึดยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับ กว่า 222,360 ชิ้น มูลค่าความเสียหายกว่า 84,841,200 บาท อนึ่ง ผลิตภัณฑ์ยาและวัตถุอันตรายที่ตรวจยึดในครั้งนี้ พนักงานสอบสวน กก4 บก.ปคบ. นำส่งตรวจวิเคราะห์ ณ กรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ ยืนยันผลตรวจวิเคราะห์อีกครั้งเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม

1. พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510

- กรณีพบการลักลอบตั้งโรงงานผลิตยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือโรงงานเถื่อน มีความผิดดังนี้

          1.1) ผลิตยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท

          1.2) ผลิตยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          - กรณียารับประทานสำหรับสัตว์ ผู้จำหน่ายจะมีความผิดฐาน “ขายยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ ขายยาไม่ได้รับอนุญาต ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท

- กรณีพบการโฆษณาขายยาทางสื่อออนไลน์ มีความผิดฐานโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุมัติข้อความ เสียง หรือภาพจากผู้อนุญาต ฝ่าฝืนมาตรา 88 ทวิ โทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

กระทรวงสาธารณสุขโดย นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามที่ได้รับมอบนโยบายจาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำเนินการเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ หรือร้องขอความช่วยเหลือของประชาชน ประสานงาน และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมอบหมาย นั้น ตนในฐานะผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลกระทรวงสาธารณสุข จึงได้นำนโยบายมาถ่ายทอดถึงกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำเนินการเร่งปราบปรามผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายต่อประชาชน

นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าปฏิบัติการในครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่สืบสวน ขยายผล สืบหาแหล่งผลิตยาที่ไม่ได้รับอนุญาต, แหล่งขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา และแหล่งขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต จนสามารถตรวจยึดของกลางเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ฝากเตือนไปยังผู้ประกอบการที่ยังลักลอบผลิต จำหน่าย และนำเข้าให้หยุดการกระทำนั้นเสีย หากตรวจพบจะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด กระทรวงสาธารณสุขจะบูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการกวาดล้างกลุ่มบุคคลที่ลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายไม่ว่าจะเป็น ยา อาหาร เครื่องสำอาง วัตถุอันตราย ผลิตภัณฑ์สมุนไพร วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการบูรณาการร่วมกับกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้องเมื่อพบการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องตามภาคส่วน หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยสามารถแจ้ง สายด่วน GCC 1111 กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งดำเนินการให้โดยเป็นธรรม

ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ยาสัตว์ที่ไม่มีเลขทะเบียนเป็นยาที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจาก อย. อาจไม่มีสารสำคัญ หรือมีปริมาณสารสำคัญต่ำกว่าหรือสูงกว่าปริมาณที่กำหนด โดยหากมีปริมาณต่ำกว่าที่กำหนดจะไม่มีประสิทธิภาพในการรักษา และหากมีปริมาณสูงกว่าที่กำหนดอาจเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง จึงขอเตือนผู้ที่มีสัตว์เลี้ยงให้ระมัดระวังในการใช้ยาสัตว์ หากสัตว์ป่วยควรพาสัตว์ไปตรวจรักษากับสัตวแพทย์ที่โรงพยาบาลสัตว์ คลินิกรักษาสัตว์ที่มีใบอนุญาตถูกต้อง หรือปรึกษา/ซื้อยาจากเภสัชกรประจำร้านยา ที่มีใบอนุญาตถูกต้อง สัตว์เลี้ยงของท่านจะได้รับการวินิจฉัยโรคตรวจรักษาตามมาตรฐานวิชาชีพได้รับยาที่มีคุณภาพปลอดภัยในการใช้ไม่แนะนำให้ซื้อยาสัตว์จากร้านจำหน่ายอาหารสัตว์ เพ็ทช็อปที่ไม่มีใบอนุญาตสถานพยาบาลสัตว์ หรือใบอนุญาตขายยา โดยเฉพาะการซื้อยาทางออนไลน์ ท่านมีโอกาสสูงที่จะได้รับยาปลอม ยาไม่มีคุณภาพ เป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยสามารถแจ้ง ได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th, Line: @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

พล.ต.ต.วิทยา  ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า ผู้ผลิตและขายยาจะต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง เพื่อเป็นหลักประกันเบื้องต้นว่ายาที่ผลิตมาสู่ท้องตลาดมีมาตรฐาน และรักษาโรคได้จริง นอกจากยาที่ใช้ในมนุษย์แล้ว ยาที่ใช้สำหรับสัตว์ต้องขออนุญาตผลิตให้ถูกต้องเพราะหากผลิตโดยกระบวนการที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์เลี้ยงเมื่อเรานำยามาใช้ อาจเกิดการระคายเคืองหรือบาดเจ็บ โดยนอกจากส่งผลกระทบกับสัตว์ อาจส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในฐานะผู้บริโภค สัตว์ที่ใช้ยาที่ไม่ได้มาตฐานอีกด้วย บก.ปคบ. จะดำเนินกวดขันจับกุมผู้ผลิตและขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตยาปลอม รวมถึงกวาดล้างผู้ที่ผลิตและขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ถึงที่สุด โดยประชาชนทั่วไปหากพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค

“ผู้ต้องหาหรือจําเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคําพิพากษาถึงที่สุด”

************************************

วันที่เผยแพร่ข่าว 19 มิถุนายน 2567 แถลงข่าว 34/ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

คลังรูปภาพ