อย. สร้างความมั่นใจ ไม่มีสารพิษปลอมปนในยาน้ำสำหรับเด็กจำหน่ายในไทย
18 ตุลาคม 2566

     กรณีข่าวพบมีการปลอมปนสารพิษไดเอทิลีนไกลคอล และเอทิลีนไกลคอล ในยาน้ำสำหรับเด็กในประเทศอินโดนีเซีย เป็นเหตุให้เด็กเสียชีวิตจำนวนมาก โดยพบปริมาณการปลอมปนสารพิษสูงถึง 99% อย. ยืนยันไม่พบปัญหาการปลอมปนสารพิษดังกล่าวในผลิตภัณฑ์ยาที่ผลิตและนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ 

     นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏในข่าวพบมีการปลอมปนสารพิษไดเอทิลีนไกลคอลและเอทิลีนไกลคอลในยาน้ำสำหรับเด็กในประเทศอินโดนีเซียเมื่อปี พ..2565 เป็นเหตุให้เด็กเสียชีวิตจำนวนมาก โดยพบปริมาณการปลอมปนสารพิษสูงถึง 99% พบว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซียเป็นการจงใจปลอมปนสารพิษดังกล่าวในสารโพรไพลีนไกลคอลที่ใช้ในการผลิตยาน้ำให้แก่ผู้ผลิตยาในประเทศอินโดนีเซียและอินเดีย

     สำหรับในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เร่งตรวจสอบยืนยันไม่พบปัญหาการปลอมปนสารพิษดังกล่าวในผลิตภัณฑ์ยาที่ผลิตและนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ  และไม่พบผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยบริษัท Afi Farma ซึ่งเป็นผู้ผลิตในประเทศอินโดนีเซียที่ปรากฏในข่าวว่าพบการปลอมปนสารพิษสูงถึง 99%  นอกจากนี้ ในช่วงปีที่ผ่านมา อย. ได้เก็บตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ยาน้ำสำหรับเด็กที่มีการนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซียและอินเดีย โดยผลการตรวจวิเคราะห์ไม่พบมีการปลอมปนไดเอทิลีนไกลคอล และเอทิลีนไกลคอล มาใช้ทดแทนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตยาแต่อย่างใด และเพื่อเป็นการเฝ้าระวังและสร้างความมั่นใจในการบริโภคยาที่มีการจำหน่ายในประเทศ  อย. จะดำเนินการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ยาน้ำสำหรับเด็กอย่างต่อเนื่อง โดยกำกับดูแลให้ผู้ผลิตยาต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตและกระจายยา (GMDP) อย่างเข้มงวด รวมถึงการตรวจประเมินสถานที่นำเข้ายาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการกระจายยา (GDP) และระบบการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันการปลอมปนสารที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค

**********************************************

วันที่เผยแพร่ข่าว  18  ตุลาคม 2566 / ข่าวแจก  13  ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567