อย. แนะ ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินใช้สำหรับกรณีจำเป็นที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ไม่ใช่ยาสำหรับทำแท้งและไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ทั้งนี้ อาจพบอาการข้างเคียงจากการใช้ยาได้ โดยส่วนใหญ่มีความรุนแรงน้อย แต่ควรปรึกษาแพทย์ หากพบอาการผิดปกติ
นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า เทศกาลวันแห่งความรัก (14 กุมภาพันธ์) คนส่วนใหญ่มักแสดงความรักแก่กัน ซึ่งมีคู่รักหลายคู่ที่อาจมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน และจำเป็นต้องใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดหลังมีเพศสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงแนะผู้ใช้ยาทำความเข้าใจ ซึ่งปัจจุบันมีทางเลือกของการคุมกำเนิดที่หลากลาย โดยมีข้อจำกัดแตกต่างกันออกไป เช่น การใช้ถุงยางอนามัย การทำหมัน การใส่ห่วงอนามัย และการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด โดยมียาเม็ดคุมกำเนิดที่ต้องรับประทานต่อเนื่องเป็นประจำแบบรายเดือนและยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน ซึ่งยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นยาที่มีข้อบ่งใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือเกิดความผิดพลาดจากการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นเท่านั้น
ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นชนิดฮอร์โมนเดี่ยวมีส่วนประกอบของโปรเจสโตเจนปริมาณสูง มี 2 ขนาด คือ 0.75 มิลลิกรัม/เม็ด และ 1.5 มิลลิกรัม/เม็ด ซึ่งสามารถใช้ได้ 2 แบบ คือ แบบที่หนึ่ง กินยาขนาด 0.75 มิลลิกรัม ให้เร็วที่สุดหลังมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน อย่างช้าไม่เกิน 72 ชั่วโมง และกินเม็ดที่ 2 ภายใน 12 ชั่วโมงต่อมา และแบบที่สอง กินยาขนาด 1.5 มิลลิกรัม ให้เร็วที่สุดหลังมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน หรืออย่างช้าไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยการใช้ทั้งสองแบบให้ผลไม่ต่างกัน ทั้งนี้ การใช้ยาคุมฉุกเฉินอาจพบอาการข้างเคียงได้ ซึ่งส่วนใหญ่มีความรุนแรงน้อย เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ปวดท้องน้อย และความผิดปกติของประจำเดือน เช่น ประจำเดือนมายาวนานขึ้น แต่หากพบอาการผิดปกติ หรือสงสัยภาวะตั้งครรภ์ ควรรีบไปพบแพทย์
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวย้ำว่า การใช้ยาคุมฉุกเฉินเป็นทางเลือกหนึ่งในการคุมกำเนิดที่ใช้สำหรับกรณีจำเป็น โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์น้อยกว่าการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบรายเดือน อย่างไรก็ตาม ยาคุมฉุกเฉินไม่ใช่ยาทำแท้ง และไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
********************************************
วันที่เผยแพร่ข่าว 13 กุมภาพันธ์ 2566 / ข่าวแจก 63 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566